Powered By Blogger

วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

ไม่ง้อแว่น !!! Sony เปิดตัว 3D OLED TV แบบ "ไม่ต้องใส่แว่น"


ขนาด 23" OLED TV แบบ 3D ไม่ต้องใส่แว่น

เห็นบ่นกันเหลือเกินเรื่องปัญหา "แว่นแว่น" ของทีวี 3 มิติ ว่าใส่ไม่สบายตา ต้องนั่งเปลี่ยนแบตเตอรี่ และไม่สู้แสงหลอดไฟกระพริบซะเหลือเกิน !!! Sony เองจึงนำปัญหาเหล่านี้ออกมาผลิต 3D OLED TV แบบไม่ต้องใส่แว่น (Autostereoscopic) ซึ่งถือว่าเเป็นอีกก้าวกระโดดของทีวี 3 มิติครับ เนื่องจาก 3D TV แบบไม่ใส่แว่นส่วนใหญ่จะเป็น LED LCD TV เท่านั้นซึ่ง Philips และ Toshiba เคยเผยเปิดตัวออกมาแล้ว แต่ Sony เองก้าวกระโดดไปยังเทคโนโลยี OLED TV เลย



ตัวโปรโตรไทพ์ขนาดเล็กไปซักนิด

เจ้าจอสุดล้ำขนาด 23" นี้ โดดเด่นที่ความส่ว่างและความบาง อย่งไรก็ตามเรื่องมุมมองอาจจะมีจำกัดบ้างเพราะขนาดจอเล็ก มิติภาพอาจจะยังไม่ได้ลอยเด่นขนาดนั้น การเคลื่อนไหวเดินไปเดินมาอาจจะทำให้ท่านอยู่ในตำแหน่งการรับชมที่ไม่ได้ดี ที่สุด อาจจะเห็นมิติภาพเหลื่อมซ้อนกันได้

อย่างไรก็ตามเจ้า 3D OLED TV ของ Sony ตัวนี้เป็นตัว "ต้นแบบ" ที่น่าจับตามองยิ่งนัก เพราะอย่างที่เว็บเราเสนอกันไปนั้นว่าอนาคตยุคถัดไปของทีวีหลังจากยุค Plasma TV / LCD TV / LED TV / ก็คือ OLED TV นี่แหละครับ และเร็วๆนี้เชื่อเหลือเกินว่าจะมี OLED TV ขนาดใหญ่ขึ้นออกมาให้ได้ร้องว้าวกันแน่นอน เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันไปไวซะเหลือเกิน !!!


ที่มา : lcdtvthailand by Roman



ระวัง 10 ภัยอันตรายบนโลกออนไลน์ปี 54 ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด!


ระวัง 10 ภัยอันตรายบนโลกออนไลน์ปี 54 ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด!
โดย ดร.อนุพงศ์ อวิรุทธา
(หมายเหตุ ผู้เขียนเป็นหัวหน้าสาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ติดต่อผู้เขียนได้ที่ anupong.av@spu.ac.th)
เนื่องจากการใช้อินเตอร์เน็ต และการใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์ในปัจจุบันมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คนไทยได้มีการอ่านข่าวสารผ่านเว็บไซต์เพิ่มมากขึ้น มีการใช้อินเตอร์เน็ตในการสืบค้นข้อมูล หรือแม้แต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็มีสัดส่วนที่สูงขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมาจากอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ความปลอดภัยของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต

จะเห็นได้ว่าประเด็นเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงบนอินเตอร์เน็ตและอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นปัญหาที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตพบอยู่บ่อยๆ มิจฉาชีพก็ได้หาวิธีที่แยบยลมากขึ้น เพื่อใช้เป็นกลลวงและหลอกล่อเหยื่อให้หลงเชื่อ เช่น การส่งอี-เมลที่เป็นอี-เมลปลอม (สแปม) หรือการหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัวลงแบบฟอร์ม

สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางการเงินแก่เหล่ามิจฉาชีพ

ผมขอสรุป 10 วายร้ายบนโลกออนไลน์ที่จะเกิดขึ้นปี′54 ดังนี้

อันดับที่ 10

ปัญหาใหญ่บนโลกออนไลน์เองอาจจะไม่เกิดจากปัญหาของอินเตอร์เน็ตหรือปัญหาทางด้านเทคนิค แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากผู้ใช้เอง ซึ่งผู้ใช้มีแนวโน้มที่จะผูกตัวเองเข้ากับโลกออนไลน์มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว เริ่มมีการใช้ชีวิตและสังคมบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการช็อปปิ้ง การพูดคุย พบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ บนโลกออนไลน์ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนไป เสมือนเป็นการตัดขาดชีวิตจากโลกภายนอก ลืมวิธีการใช้ชีวิตจริงๆ ไป ซึ่งมีวิจัยจากหลายหน่วยงานได้สรุปผลออกว่าคนในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะมีเพื่อนและพูดคุยกับคนไม่รู้จักบนโลกออนไลน์มากขึ้น และมีความสุขกับการสร้างตัวเองใหม่ ที่เป็นตัวละครบนโลกออนไลน์ เนื่องจากเราจะเป็นใครก็ได้บนโลกออนไลน์ แต่สิ่งนี้กลับทำให้เป็นการตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง

อันดับที่ 9

จะไม่มีความลับบนโลกนี้อีกต่อไป โลกของความปลอดภัยนั้นหาได้ยากบนโลกออนไลน์ ข้อมูลต่างๆ ถูกโอนถ่ายจากเว็บหนึ่งสู่เว็บหนึ่งทั้งที่เจ้าของข้อมูลรู้ตัวและไม่รู้ตัว การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลสามารถทำได้ง่ายขึ้นไม่ว่าจะเป็นการหาชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลเหล่านี้ง่ายต่อการถูกเปิดเผย การที่สมัครเพื่อเป็นสมาชิกเว็บไซต์หนึ่งเว็บไซต์ บัญชีอี-เมลหนึ่งอี-เมล มีข้อมูลส่วนตัวที่จำเป็นที่จะต้องให้ และใครจะรู้บ้างว่าข้อมูลเหล่านั้นจะถูกเก็บ หรือถูกส่งต่อไปยังที่ใดต่อไป

โดยเฉพาะในปัจจุบันโลกของสังคมออนไลน์ (Social Network) ได้ถือว่าเป็นฐานข้อมูลอย่างดีให้กับองค์กรธุรกิจมากมายเพื่อหาผลประโยชน์ในการใช้เป็นฐานข้อมูลลูกค้า

อันดับที่ 8

ในยุคนี้ ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลกเราทุกวันนี้มีมากมายเหลือเกิน ซึ่งผู้ประสบภัยต่างๆ ทุกทั่วมุมโลก ต่างได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย มีองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไร คอยช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประสบภัยธรรมชาติต่างๆ ซึ่งเหล่าอาชญากรไซเบอร์ก็ไม่เว้นที่จะใช้ประโยชน์จากน้ำใจของมวลมนุษย์มาเป็นเหยื่อ มีการเกิดขึ้นของเว็บไซต์มากมายที่เป็นเว็บไซต์การกุศลจอมปลอมที่ทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนผู้ใจบุญ ที่มีความประสงค์ต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ได้รับความลำบากทำการบริจาคเงินไปยังองค์กรที่หลอกต้มตุ๋นดังกล่าว

อันดับที่ 7

หลายๆ คนในยุคไซเบอร์นี้นิยมที่จะส่งบัตรอวยพรไปให้เพื่อนๆ ผ่านทางอี-เมล หรือทางบัตรอวยพรอิเล็กทรอนิกส์ (E-Card)

ดังนั้น เหล่าอาชญากรไซเบอร์จึงอาศัยช่องทางนี้ในการหลอกลวงและเข้าถึงข้อมูลของเหยื่อ อาชญากรไซเบอร์จะใช้วิธีการส่งบัตรอวยพรเทศกาลปลอม (Spam E-Card) ที่แฝงด้วยลิงก์ที่เป็นสแปม (Spam) มาให้เหยื่อทางอี-เมล อาจจะถูกส่งมาจากอี-เมลของอาชญากรไซเบอร์เอง หรือจากเพื่อนของเหยื่อที่อี-เมลนั้นได้ถูกแฮ็ก (Hack) เข้าไปในบัญชีรายชื่อเรียบร้อยแล้ว และทำการส่งต่อไปยังเพื่อนๆ

เมื่อเหยื่อได้รับอี-เมล และเปิดอ่าน จะมีลิงก์ให้เหยื่อทำการกด (Click) เพื่อทำการเปิดบัตรอวยพรอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว แต่เบื้องหลังแล้วเป็นการทำการสั่งให้สแปมทำงาน

และนั่นทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ของเหยื่อตกอยู่ในอันตรายทำให้อาชญากรไซเบอร์สามารถเข้าไปดูข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของเหยื่อได้ หรือทำให้สามารถดึงข้อมูลรายชื่ออี-เมลของเพื่อนๆ ได้ต่อไป

อันดับที่ 6

โฆษณาแฝงด้วยไวรัส (Malware) สังเกตได้ว่าเว็บไซต์ทุกวันนี้อยู่ได้ด้วย 2 ประการ คือ

หนึ่ง การที่มีคนเข้าจำนวนมากๆ โดยเฉพาะผู้ที่เข้าเว็บไซต์เป็นประจำ (unique Visitors)

และ สอง คือโฆษณาที่ถือว่าเป็นแหล่งรายได้และทำเงินให้กับเว็บไซต์ต่างๆ อยู่รอดได้ ดังนั้น การที่จะมีโฆษณาบนเว็บหรือมีธุรกิจที่สนใจในการลงโฆษณาบนเว็บไซต์ได้นั้น ต้องอาศัยตัวแปรที่หนึ่งคือ มีคนเข้าเว็บไซต์จำนวนมากพอสมควรที่จะดึงดูดให้ธุรกิจมาโฆษณากับทางเว็บไซต์ในปัจจุบันเว็บไซต์ที่มีโฆษณาจึงไม่ใช่เรื่องแปลกตาเฉกเช่นกับในอดีต

ดังนั้น อาชญากรไซเบอร์จึงฉวยโอกาสที่ผู้เข้าเว็บไซต์ไม่ทันได้ระวังทำการเผยแพร่โฆษณาที่แฝงด้วยไวรัส เมื่อผู้เป็นเหยื่อทำการคลิกที่โฆษณานั้นแล้ว ตัวไวรัสจะถูกทำงานและฝังตัวอยู่ในเครื่องทำให้เมื่อเหยื่อเข้าเว็บไซต์ใดก็ตาม จะเกิดหน้าต่างเด้งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความรำคาญของผู้ใช้งาน ซึ่งผู้ใช้งานเองอาจมีความเข้าใจว่า มีโปรแกรมป้องกันไวรัสแล้วสามารถยับยั้งได้

แต่ปัญหาใหญ่คือ โปรแกรมแอนตี้ไวรัสรุ่นเก่าไม่สามารถตรวจพบสปายแวร์ได้ ทำให้ต้องใช้โปรแกรมประเภทแอนตี้สปายแวร์เพิ่มเติม

อันดับที่ 5

อันตรายจากการใช้โปรแกรมแช็ต (Instant Messaging) เช่น MSN เหล่าอาชญากรไซเบอร์หาช่องทางในการเจาะและแพร่ไวรัส หรือมัลแวร์ผ่านทางโปรแกรมแช็ตที่ได้รับความนิยมสูงอย่างต่อเนื่อง

ลักษณะการทำงานคือ เมื่อท่านใช้งานในโปรแกรมแช็ตกับเพื่อนของท่าน ท่านอาจจะได้รับข้อความให้รับไฟล์ที่ชื่อว่า Image.zip จากเพื่อนของท่าน ถ้าท่านเผลอกดรับไปแล้ว โปรแกรมไวรัสจะถูกทำงานและทำให้รายชื่อของเพื่อนของท่านถูกลบออกไปหมด และยังเป็นการส่งโปรแกรมไวรัสดังกล่าวไปให้เพื่อนของท่านโดยที่ท่านไม่รู้ตัว

อันดับที่ 4

ภัยจากการโหลดไฟล์ผ่านทางอินเตอร์เน็ต (Bit Torrent) อะไรก็ตามที่มีผู้ใช้จำนวนมาก เป็นที่นิยม จะเป็นช่องที่พวกอาชญากรไซเบอร์ให้ความสนใจ เช่น โปรแกรมที่เหล่านักดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นหนัง หรือโปรแกรมใหญ่ ต่างใช้กันคือ Bit Torrent ที่ถูกออกแบบมาให้มีความสามารถทั้งการดาวน์โหลดและอัพโหลดไฟล์ขนาดใหญ่ๆ ด้วยความเร็วสูง แถมยังสามารถหาไฟล์ที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย

เหล่าอาชญากรไซเบอร์จึงทำการปล่อยไฟล์ที่ได้รับความนิยมพร้อมกับการแฝงตัวไวรัสและมัลแวร์มายังเครื่องของเหยื่อผ่านการดาวน์โหลด และทำการส่งต่อไปยังเหยื่อรายต่อไปในขณะที่เหยื่อทำการอัพโหลด ผลกระทบที่เกิดขึ้นเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในองค์กรจะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ มีความเร็วลดลง และเป็นการเปิดช่องว่างทำให้เหล่าแฮกเกอร์ใช้ในการเจาะเข้าระบบขององค์กรต่อไป

อันดับที่ 3

ภัยจากเว็บไซต์ปลอม (Phishing) ลักษณะของเว็บปลอมนั้น อาชญากรไซเบอร์จะทำการส่งอี-เมลไปยังเหยื่อ โดยอาจจะใช้ที่อยู่และอี-เมลของธนาคาร เมื่อเหยื่อทำการคลิกเข้าไปแล้ว หน้าต่างใหม่จะถูกเปิดขึ้น โดยหน้าตาเว็บไซต์ปลอมนั้นจะมีลักษณะเหมือนกับหน้าเว็บไซต์จริงๆ ของธนาคาร และจะมีข้อความแจ้งในทำนองว่า ให้เหยื่อทำการอัพเดทข้อมูลส่วนตัว เพื่อปรับปรุงและสามารถเข้าใช้งานได้ต่อไป เมื่อเหยื่อกรอกข้อมูลแล้ว กดยืนยัน ข้อมูลที่เหยื่อกรอกกับถูกส่งไปที่อาชญากรไซเบอร์ แทนที่จะไปที่เว็บไซต์ของธนาคาร เว็บไซต์ประเภทนี้ยังคงเป็นช่องทางหลักของเหล่าอาชญากรไซเบอร์ที่ใช้ในการหลอกเหยื่อให้หลงกล

ทำให้เหยื่อหลงเชื่อทำการกรอกข้อมูลส่วนตัว รหัสต่างๆ ซึ่งทำให้อาชญากรไซเบอร์เหล่านั้นสามารถนำข้อมูลของเหยื่อไปใช้ประโยชน์ต่อไป

อันดับที่ 2

Wi-Fi ปลอม มีลักษณะเดียวกันกับเว็บไซต์ปลอม (Phishing) แม้ว่าหลักการยังคงเหมือนเดิมแต่รูปแบบของการใช้เว็บปลอมก็ได้มีการพัฒนาให้มีความแยบยลมากขึ้น เช่น การที่เหยื่อเข้าไปนั่งในร้านกาแฟร้านหนึ่ง และค้นหาสัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สาย (โดยเฉพาะที่ฟรี) ซึ่งอาชญากรไซเบอร์รู้ถึงพฤติกรรมนี้ดี ว่าเมื่อคนเราเจอสัญญาณฟรีในที่สาธารณะ เรามักจะลองเข้าเพื่อใช้งาน ซึ่งอาชญากรไซเบอร์ก็ได้เตรียมเว็บไซต์ปลอมสำหรับการให้บริการอินเตอร์เน็ตฟรีขึ้น โดยเมื่อเหยื่อได้ทำการเชื่อต่อสัญญาณ จะมีหน้าต่างปรากฏในลักษณะที่แจ้งถึงเงื่อนไขการใช้บริการฟรีอินเตอร์เน็ต เพียงแต่ให้เหยื่อกรอกข้อมูลก็สามารถเข้าใช้งานอินเตอร์เน็ตฟรี อาจจะเป็นเพียงการกรอกข้อมูล อี-เมล และตั้งพลาสเวิร์ดสำหรับการใช้งาน แต่โดยปกติคนเราก็มักจะใช้พลาสเวิร์ดซ้ำๆ กันอยู่แล้ว ทำให้เหล่าอาชญากรไซเบอร์ทำการสุ่มและเดาได้ว่าจะใช้พลาสเวิร์ดที่ได้มาทำอะไรต่อไป และเมื่อเหยื่อกรอกข้อมูลกับเป็นการส่งข้อมูลนั้นไปยังอาชญากรไซเบอร์ แถมยังไม่สามารถเข้าใช้งานได้อีก

อันดับที่ 1

สังคมที่ตกต่ำลง เป็นผลพวงของการเติบโตอย่างรวดเร็วจนดูเหมือนว่ายากที่จะควบคุม ความอันตรายของโลกออนไลน์ ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบมากมาย (โดยเฉพาะในทางไม่ดี) มีการโชว์คลิปต่างๆ ที่เป็นการทำลายจริยธรรมของมนุษย์ผ่านทางเว็บไซต์ที่เผยแพร่คลิป ส่งผลเสียต่อสังคมและวัฒนธรรม ทำให้เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อย ส่อแววมีพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายคลิปทำร้ายร่างกายกัน การบังคับขืนใจและใช้การถ่ายคลิปเพื่อข่มขู่ การทำร้ายกัน การฆ่าตัวตาย หรือแม้แต่การถ่ายรูปตัวเองในลักษณะที่ยั่วยวนและนำขึ้นไปโพสท์ตามเว็บต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมทางเพศของเด็กและเยาวชนที่รวดเร็วขึ้น

และทำให้เกิดคดีการล่อลวงเด็กและเยาวชนที่สูงขึ้นเช่นกัน
ที่มา : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1294750398&grpid=&catid=02&subcatid=0207

วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

8 ผลิตภัณฑ์ไอทีล้มเหลวประจำปี 2010

เว็บไซต์ Newsweek รวบรวม 8 อุปกรณ์-ผลิตภัณฑ์ไอทีที่ล้มเหลวในปี 2010 นี้

Microsoft Kin มือถือของไมโครซอฟท์ที่มีเวลาขายเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนเลิกโครงการ
Nexus One แม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดี แต่ล้มเหลวในแง่วิธีการขาย ซึ่งแปลกไปสักหน่อยกับผู้ใช้ในสหรัฐ
JooJoo Tablet แท็บเล็ตที่เคยฮือฮาว่าจะมาต่อกรกับ iPad แต่มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องกฎหมายระหว่างผู้พัฒนากันเอง และตัวผลิตภัณฑ์ก็ไม่ดีจริงอย่างกระแส
Microsoft Courier แท็บเล็ตสองจอจากไมโครซอฟท์ ที่เป็นได้แค่คอนเซปต์
Skiff E-Reader เครื่องอ่านอีบุ๊กจอใหญ่ ที่โครงการล้มไปหลังบริษัทผู้พัฒนาถูกซื้อกิจการ และบริษัทแม่ไม่ทำต่อ
Cool-er E-reader แท็บเล็ต E Ink จอสี ที่ไปไม่รอดในทางธุรกิจ บริษัทเพิ่งล้มละลายไป
iPhone 4 สีขาว อุปกรณ์ที่ยังไม่เป็นจริง
Google Wave แนวคิดแปลกใหม่ แต่อาจมาก่อนกาลไปสักนิด


ข้อมูลจาก : blognone.com

@ thaiware.เผยยอดโหลดซอฟต์แวร์ผ่านเว็บพุ่ง @



ไทยแวร์ดอทคอม ระบุโซเชียล เน็ตเวิร์ค อุปกรณ์พกพาสุดฮิต ดันยอดโหลดซอฟต์แวร์ผ่านเว็บปี 2553 โตกว่า 50%


ชี้ที่ผ่านมามีซอฟต์แวร์ไทยเปิดโหลดผ่านเว็บ 2,500 โปรแกรม คนไทยฮิตโหลดกว่า 4 ล้านคน ขณะที่ โปรแกรมภาคธุรกิจครองแชมป์ทำรายได้ให้ผู้พัฒนามากสุด

นายชัชวิทย์ ก่อตั้งเกียรติกุล ผู้บริหาร บริษัท ไทยแวร์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์ไทยแวร์ดอทคอม (www.thaiware.com) กล่าวว่า  ตลาดซอฟต์แวร์ ไทยปี 2553 มีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่าปีก่อน 50% จากสภาพเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นโดยรวมที่แข็งกล้ามากขึ้น ทั้งยังมาจากอานิสงส์การเป็นที่นิยมของโซเชียล เน็ตเวิร์ค อย่างเฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ รวมถึงอุปกรณ์พกพาต่างๆ ส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายซอฟต์แวร์ของคนไทยมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

ทั้งนี้ จากการสำรวจจำนวนซอฟต์แวร์สัญชาติไทยที่มาให้บริการดาวน์โหลดบนเว็บมี 2,500 โปรแกรม จำนวนนี้เป็นซอฟต์แวร์ที่ให้ใช้งานฟรี 80% มีประมาณ 500 โปรแกรมเท่านั้นที่พัฒนาออกมาเพื่อการค้า

นายชัชวิทย์ กล่าวว่า หากแยกย่อยออกไปตามลักษณะหมวดหมู่ของซอฟต์แวร์ ซอฟต์แวร์ประเภทธุรกิจ เช่น ซอฟต์แวร์บัญชี และซอฟต์แวร์บริหาร กิจการด้านต่างๆ เช่น บริหารสต็อกสินค้า ร้านอาหาร โรงแรม ฯลฯ จะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ และยังเป็นตัวชูโรงในการทำเงินให้แก่ผู้ผลิตได้มากกว่าโปรแกรมประเภทอื่นๆ อีกด้วย

"ที่มาแรงแซงทางโค้งในปีที่ผ่านมาคือ ซอฟต์แวร์ที่ พัฒนาขึ้นบนโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์พกพาต่างๆ ที่ทยอยเปิดตัวสินค้าใหม่ออกมา กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ส่งผลให้บรรดานักพัฒนาชาวไทยทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ต่างกระโดดเข้ามาลุยตลาดนี้กันมากขึ้น ทำให้มีโปรแกรมบนอุปกรณ์เหล่านี้ออกมาในท้องตลาดมากมายช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าแนวโน้มจะมีผลยาวไปถึงปีหน้าด้วย" นายชัชวิทย์ กล่าว

และนายธรรณพ สมประสงค์ ผู้บริหารอีกรายหนึ่ง กล่าวเสริมว่า ปีนี้จำนวนผู้ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ไทย พุ่งแตะ 4 ล้านคนไปเมื่อเดือน พ.ย.2553 เทียบกับปีที่แล้วมีเพียง 2 ล้านคน ถือว่าโตขึ้น 50% โดยมาจากปัจจุบันมีธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมาก หันมาให้ความสนใจนำซอฟต์แวร์เข้าช่วยบริหารจัดการธุรกิจของตัวเองให้ง่ายขึ้น

จากการสอบถามเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอี พบว่า ซอฟต์แวร์ประเภทดังกล่าวมีอยู่มากในท้องตลาด ทั้งของไทยและต่างประเทศ เหตุที่เอสเอ็มอีเลือกซอฟต์แวร์ไทย เพราะตอบโจทย์ความต้องการได้มากกว่าซอฟต์แวร์ต่างประเทศ เช่น แบบฟอร์มเรื่องการยื่นภาษีกับกรมสรรพากร ที่ซอฟต์แวร์ของต่างประเทศยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเอสเอ็มอีได้ เป็นต้น

"ภาพรวมธุรกิจด้านซอฟต์แวร์ของ ไทย ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีจากสถิติที่สูงขึ้นมากในปีนี้ ปีหน้าคาดว่าจะโตขึ้นอีกเท่าตัว เพราะเป็นช่วงที่มีช่องว่างเทคโนโลยี และฮาร์ดแวร์ที่เปิดตัวออกมาใหม่ จึงอยากแนะนำให้นักพัฒนาชาวไทยปรับตัว และอาศัยจังหวะนี้เร่ง ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์ ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อสร้างรายได้ ทั้งยังช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้เติบโตมากขึ้นไปกว่านี้"

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

@ การเคลื่อนไหวในโลกไซเบอร์ @


เข้าสู่ฤดูกาลแห่งเทศกาลกันแล้ว มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความคึกคักสดใส
ไม่แตกต่างกับการเคลื่อนไหวในโลกไซเบอร์ ที่ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดของปี ก็ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ 


***  ส่งท้ายปีกับข้อมูลล่าสุดจาก การ์ทเนอร์ ที่ประเมินว่า มูลค่าตลาดซอฟต์แวร์โซเชียลสำหรับภาคธุรกิจ (อีเอสเอส) อาทิเช่น บล็อก วิกิ ฟอรัม และโปรแกรมป้อนข้อมูลอัตโนมัติ จะทะยานขึ้นไปแตะระดับ 769 ล้านดอลลาร์ ในปีหน้า และอาจขยายตัวถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2555  เทียบกับมูลค่า 664 ล้านดอลลาร์ ที่คาดเอาไว้สำหรับปีนี้

หากตัว เลขคาดการณ์สำหรับปี 2553 ถูกต้อง ก็จะแสดงว่า ตลาดมีการเติบโตมาจากเมื่อปี 2552 ถึง 15% โดยในปีก่อนหน้านี้ ทั่วโลกใช้จ่ายด้านอีเอสเอสไป 578 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเครื่องมือในกลุ่มการใช้จ่ายนี้ รวมถึง เซลส์ฟอร์ซ ดอท คอม แชทเตอร์  ไอบีเอ็ม โลตัส คอนเนคชั่น และ ไมโครซอฟท์ แชร์พอยท์

*** เคยแต่ได้รับรางวัล หรือถูกยกย่องว่า มีไอเดียดี สินค้าใช้งานได้ยอดเยี่ยม แต่สิ้นปีนี้ แอ๊ปเปิ้ล คงถึงคราวสะอึกกันบ้าง เมื่อ เว็บไซต์เอ็นพีอาร์ หรือสถานีวิทยุสาธารณะของสหรัฐ เผยผลจัดอันดับไอเดียดี-แย่ประจำปีนี้ อันเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไอที โดยเลือก ไอทูนส์ ปิง  ของยักษ์ใหญ่รายนี้ เป็นหนึ่งใน  ไอเดียยอดแย่ประจำปี

เอ็นพีอาร์ ให้เหตุผลว่ารากฐานของโซเชียล เน็ตเวิร์ค คือ การแบ่งปันสิ่งต่างๆ ให้กันและกัน แต่วัฒนธรรมของแอ๊ปเปิ้ลเป็นบริษัทที่ไม่ชอบแบ่งปัน ทำให้ ปิงล้มเหลว โดยในขณะที่สื่อเครือข่ายสังคมรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือ มายสเปซ ล้วนแต่สามารถใช้งานจากอุปกรณ์ใดก็ได้ แต่ปิงกลับต้องใช้งานผ่านไอทูนส์เท่านั้น  แถมในช่วงแรกๆ ของการเปิดตัว ยังบังคับให้แชร์ได้เฉพาะเพลงที่ซื้อจากไอทูนส์ สโตร์ อีกต่างหาก

*** ต่อเรื่องจากค่ายแอ๊ปเปิ้ลกันอีกหน่อย กับข่าวดีๆ ที่ทำให้ยิ้มออก โดยบริษัทเผยว่า ในช่วงเวลาประมาณ 3 เดือน นับแต่วางตลาดเป็นครั้งแรกนั้น แอ๊ปเปิ้ล ทีวี รุ่นปรับปรุงใหม่ มียอดขายพุ่งขึ้นไปแตะ 1 ล้านเครื่องแล้ว

แอ๊ปเปิ้ล ระบุด้วยว่า ผู้ใช้ไอทูนส์ และแอ๊ปเปิ้ล ทีวี มียอดการซื้อภาพยนตร์ 150,000 เรื่องต่อวัน และรายการทีวี 400,000 ตอนต่อวัน

*** ข่าวไม่ดีอีกสักข่าว กับสถิติ 10 อันดับภาพยนตร์ที่ถูกดาวน์โหลด แบบผิดกฎหมายผ่านทางบิท ทอร์เรนท์  มากที่สุดในปีนี้ 2553  โดยตำแหน่งแชมป์ตกเป็นของภาพยนตร์เรื่องอวตาร มียอดดาวน์โหลดสูงสุดถึง 16,580,000 ครั้ง ส่วนเรื่องเดอะ เฮิร์ท ล็อคเกอร์ ที่ได้รับรางวัลออสการ์ อยู่ในอันดับ 9 มียอดดาวน์โหลด 6,850,000 ครั้ง

***ปิดท้ายสัปดาห์ นี้ กับความคืบหน้าในเรื่องการควบคุมแวดวงอินเทอร์เน็ต เมื่อคณะกรรมการสื่อสารของสหรัฐ (เอฟซีซี) มีมติผ่านร่างกฎหมาย  "ความเป็นกลางของเครือข่ายแบบมีข้อจำกัด"​

แม้จะยังไม่มี การเปิดเผยรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า ร่างดังกล่าว จะมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การควบคุมความเป็นกลางของอินเทอร์เน็ต ที่ได้เชื่อมต่อด้วยสาย มากกว่าอินเทอร์เน็ตไร้สาย (เช่น บนโทรศัพท์มือถือ) ซึ่งหมายความว่า อาจมีการปิดทางให้ผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สาย เรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ใช้บริการ ในกรณีที่ต้องการใช้งานที่มีข้อมูลปริมาณมาก อย่าง ยูทูบ ในขณะที่ผู้ให้บริการเครือข่ายผ่านระบบสาย จะต้องทำตามกติกาและให้บริการการเข้าถึงเว็บต่างๆ อย่างเป็นกลาง

กรุงเทพธุรกิจ 


Coolfirmed คูลเฟิร์มโดย: นายใหม่ รักหมู่

ยกเลิกครูหลักสูตร 5 ปี ในปี 56 ย้ำ! เป็นครูต้องจบ ป.โท เท่านั้น


ยกเลิกครูหลักสูตร 5 ปี ในปีการศึกษา 2556 แน่นอน "ไชยยศ" ย้ำอนาคตต้องการคนจบ ป.โท มาเป็นครูเท่านั้น สพฐ.ยกงานวิจัยผลการเรียนของเด็กจะดีหรือแย่ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ของครูไม่ใช่วุฒิการศึกษา


          นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีว่าช่วยการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ที่ประชุมมีมติการดำเนินการหลักสูตรครูพันธุ์ใหม่ใน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตร 4+2 คือรับผู้จบจากสาขาวิชาอื่น ๆ มาเรียนต่อระดับปริญญาโท และหลักสูตรครู 6 ปี โดยทั้ง 2 หลักสูตรมีเงื่อนไขผูกพัน 2 รูปแบบดังนี้คือ การให้ทุนการศึกษาระหว่างเรียนและประกันการมีงานทำ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับการบรรจุเป็นครูในสาขาและพื้นที่ที่ขาดแคลนตามที่โครงการฯ กำหนด สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รูปแบบที่ 2 คือ ประกันการมีงานทำแต่ไม่มีเงินทุนการศึกษาให้ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับการบรรจุเป็นครูในสาขาและพื้นที่ที่ขาดแคลนตามที่โครงการฯ กำหนดเช่นเดียวกัน


          โดยขณะนี้มีสถาบันที่ยืนยันว่าสามารถจะเปิดสอนหลักสูตรครูพันธุ์ใหม่หลักสูตร 6 ปีในปีการศึกษา 2554 เบื้องต้น 36 สถาบัน จำนวน 85 สาขา ส่วนหลักสูตร 4+2 มีสาขาที่ผ่านการพิจาณาจากคณะกรรมการแล้วเบื้องต้นจำนวน 104 หลักสูตร จาก 34 สถาบัน โดยคาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปในกลางเดือนมกราคมปี 2554


          นายไชยยศกล่าวต่อไปว่า ส่วนทุนครูพันธุ์ใหม่ในหลักสูตร 5 จะเปิดรับปี 54 เป็นปีสุดท้าย ขณะที่สถาบันที่ยังไม่พร้อมเปิดหลักสูตรครูพันธุ์ใหม่ก็ให้เปิดรับหลักสูตร 5 ปีได้ไปจนถึงปีการศึกษา 2555 แต่ในปีการศึกษา 2556 ก็จะไม่มีการเปิดรับหลักสูตรครู 5 ปีอีกแล้ว เนื่องจากการปรับครั้งนี้เพื่อผลิตครูในสาขาวิชาและพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานผู้ใช้ครูอย่าง สพฐ.และ สอศ.


          "ส่วนตัวผมคิดว่าในอนาคตคนที่จบมาสอนเด็กควรจะต้องเป็นคนที่จบ ป.โท เพราะจะทำให้คุณภาพการเรียนการสอนดีขึ้น" นายไชยยศกล่าว


          ด้าน ดร.สมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รอง กพฐ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผลงานวิจัยพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษาของครูที่จบ แต่ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่การเรียนการสอนของครูในห้องเรียนที่มีต่อเด็กมากกว่า



ขอขอบคุณข้อมูลจาก  ไทยโพสต์

@ "HMU" คำฮิตเกิดใหม่ในโลกเฟซบุ๊ค @



"HMU" คำฮิตเกิดใหม่ในโลกเฟซบุ๊ค

คำฮิตเกิดใหม่ของเหล่าชาวเน็ตเฟซบุ๊ค นอกจาก "OMG" ที่ย่อมาจาก "Oh my god" 
หรือ "ASAP" ที่ย่อมาจาก "As soon as possible" หรือ "BTW" ที่ย่อมาจาก "By the way" 

ล่าสุด โผล่มาอีกคำคือ "HMU" ซึ่งย่อมาจาก "hit me up" เป็นคำฮิตใหม่ที่นิยมมากในหมู่วัยรุ่นอเมริกัน
ซึ่งใช้ในเฟซบุ๊ค โซเชี่ยลเน็ตเวิร์กยอดนิยม โดยมีความหมายว่า "ชวนคนบางคนออกไปเดท" 
และยังกลายเป็นวลีที่ป็อปปูล่าที่สุดในเฟซบุ๊คอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังสื่อไปถึงอีกความหมายว่า "ไปเจอกันเถอะ" และ "ติดต่อฉันด้วย"

ในขณะที่คำว่า "World Cup" และ "movies" เป็นคำยอดนิยมอันดับ 2 และ 3
ตามมาด้วยคำว่า "iPhone 4" และ "iPad" เป็นอันดับ 4 ส่วนคำว่า "Haiti" เป็นอันดับ 5

ข้อมูลจาก..  มติชน